หากพูดถึงชาเขียวร้านดังในญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นจะต้องมีร้าน Ippodo ที่มีอายุกว่า 300 ปีจากเกียวโต ที่มีสาขาไกลไปถึงนิวยอร์ก หลังจากที่ผมเที่ยว NHK Studio Park เสร็จ ก็ถือโอกาสไปสาขาของร้านที่เปิดในย่าน Marunouchi ในโตเกียวครับ
จริง ๆ ตอนแรกผมไม่ได้ตั้งใจมาดื่มชา แต่ที่บ้านผมอยากได้ชุดชงมัทฉะของร้านนี้ ก็เลยถือโอกาสแวะไปที่ร้าน โดยนั่งรถไฟจากสถานี Shibuya ของ JR มาลงที่สถานี Yurakucho แล้วเดินไปที่ถนน Marunouchi Naka-dori ก็จะเจอร้านครับ
ตอนที่ผมไปถึงร้าน ก็เหลือเวลาอีกครึ่งชม. ก่อนร้านจะปิด ซึ่งตอนที่ผมซื้อชุดชงมัทฉะ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าของต้องใช้เวลาห่อพอสมควร ผมเลยถามไปว่ายังสามารถพักดื่มชาได้อยู่หรือเปล่า เจ้าหน้าที่เลยพาเข้าไปนั่งด้านใน
การตบแต่งภายในร้านให้ความรู้สึกเรียบง่าย แต่ยังคงลักษณะความเป็นห้องชงชาญี่ปุ่นอยู่
ที่ Ippodo นั้นจะมีชาเขียวหลากหลายรูปแบบให้บริการ ทั้งมัทฉะ (Matcha) ที่คนไทยเราคุ้นเคย และชาเขียวประเภทอื่น ๆ ทั้ง เกียวคุโระ (Gyokuro), เซนฉะ (Sencha) และ บันฉะ (Bancha) ซึ่งในแต่ละประเภทก็จะมีชนิดใบชาให้เราเลือกตามลักษณะความอ่อนแก่อีก ผมเองได้สั่ง Sencha แบบ Hosen ที่มีระดับความแก่อยู่กลาง ๆ และเป็นชาที่เหมาะแก่คนที่เพิ่งดื่ม Sencha ครั้งแรกไป
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เอากาน้ำร้อน ผ้าสำหรับเช็ดชาที่หก ผ้าเช็ดมือ ใบบอกวิธีการชงชา และนาฬิกาจับเวลามาให้ ซึ่งตอนแรกผมเข้าใจว่านาฬิกานี่เอาไว้จับเวลานั่งในร้าน แต่เจ้าหน้าที่บอกไม่ใช่ เขาไว้ใช้จับเวลาตอนชงชาต่างหาก
เนื่องจากผมเองก็เพิ่งเคยเข้าร้านชาญี่ปุ่นแบบนี้ครั้งแรก เลยขอให้เจ้าหน้าที่มาสอนวิธีการชงชาเซนฉะให้ ซึ่งขั้นตอนการชงคือเทใบชาที่ใส่ในกระป๋องโลหะลงไปในกา เทน้ำร้อนลงในถ้วยตวงน้ำ แล้วรอจนถ้วยเย็นพอที่จะให้เราจับได้ แล้วก็เทน้ำลงในกา รอเวลาประมาณ 1 นาที แล้วเทน้ำออกจากกาให้หมด ก็จะได้เซนฉะ 1 ถ้วย
ส่วนการชงชาถ้วยถัดไป ก็ให้ทำเหมือนเดิม แต่หลังจากเทน้ำลงกาแล้วไม่ต้องรอ เทใส่ถ้วยดื่มต่อได้เลย
พอเจ้าหน้าที่เทชาที่ชงเสร็จลงถ้วย ผมก็ได้กลิ่นหอมของชาลอยมาเลย ส่วนความรู้สึกเมื่อดื่มชาเข้าไป คือชุ่มคอ รสขมอมหวานนิด ๆ และมีความเขียวเหมือนหญ้าอยู่ โดยรวมแล้วรสจะแรงกว่าเซนฉะที่ Cha Cha no Ma ที่ดื่มก่อนหน้าแบบสังเกตได้
ส่วนรสชาติของชาถ้วยถัดไป ผมรู้สึกว่ากลิ่นมันจะไม่ได้พวยพุ่งออกมาเหมือนถ้วยแรก และรสก็อ่อนกว่านิดหน่อย ผมชอบรสของชาถ้วยที่สองมากกว่า แต่เรื่องกลิ่นนี้ต้องยกให้ถ้วยแรกเขา
ส่วนขนมที่เสริฟกับชาคือ Nishijin Fumi ของร้าน Senbon Tamajuken จากเกียวโต ตัวขนมมีลักษณะเหมือนพับกิมิโน ด้านในสอดใสงาดำแล้วห่อด้วยแป้งโมจิ แป้งนุ่ม รสชาติอร่อย และหวานมาก ทำมาไว้ทานกับชาจริง ๆ
ผมเองลองหยิบใบเขียวขึ้นมาทานดู ก็รู้สึกได้ถึงความสดของใบชา ที่แตกต่างจากชาเขียวของบ้านเรา
ผมเองชงชาทานไปได้ประมาณ 3 ถ้วย เจ้าหน้าที่ก็เอาบิลค่าของที่สั่งและค่าชาที่ดื่มในร้านมาวางไว้ที่โต๊ะ ประมาณว่าได้เวลาปิดร้านแล้ว ผมเองแอบเสียดายชานิดหน่อย ว่าจะชงอีกสัก 2 – 3 แก้ว ให้คุ้มค่าชาสักหน่อย
หลังจากออกมาจากร้านแล้ว ผมก็เดินต่อไปยังห้าง KITTE ที่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อแวะร้าน Onitsuka Tiger ที่อยู่ในห้างนี้ ซึ่งตอนที่ไป สาขานี้คนไม่ค่อยเยอะเหมือนสาขาตามแหล่งคนเดินอย่าง Shibuya หรือ Shinjuku และพนักงานก็ดูแลดีมาก
ส่วนมื้อเย็นในวันนั้น ผมวางแผนว่าจะทานเนื้อย่างที่ตั้งใจว่าจะทานมาตั้งแต่ตอนไป Iwate ที่ร้าน Yakiniku Stadium Jan ที่ Ikebukuro แต่ตอนไปถึงคือเขาปิดรับลูกค้าแล้ว ก็ต้องกลับไปพึง Lawson แถวโรงแรมอีกเช่นเคย
และทริปวันที่ 7 ของผมก็จบลงเพียงเท่านี้ ตอนหน้าผมจะเขียนถึงร้านข้าวหน้าปลาไหลที่ Kawagoe หรือ Mini Edo ที่อยู่ใกล้ Tokyo อย่าลืมติดตามกันนะครับ
Pingback: แกะกล่อง Hajime-no-Ippodo ชุดชงมัทฉะสำหรับผู้เริ่มต้นจาก Ippodo | Silhouette Garden